นักวิจัย’ ไบโอเทค สวทช. พัฒนาเทคโนโลยี สู้ ‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’ แนะเกษตรกรชาวไร่มันฯ ลดเสี่ยง-เลี่ยงใช้ท่อนพันธุ์ต่างถิ่น
(วันที่ 25 กันยายน 2566) ที่ห้องแถลงข่าว อว. ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถ.พระรามที่ 6 กรุงเทพฯ : ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.อรประไพ คชนันทน์ ดร.แสงสูรย์ เจริญวิไลศิริ และดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับเทคโนโลยี สู้ ‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’ เพื่อแก้วิกฤตโรคใบด่างมันสำปะหลังที่ชาวไร่มันสำปะหลังทั่วประเทศกำลังประสบปัญหาอยู่ทั่วทุกภูมิภาค
โดยมีนายชวินทร์ ปลื้มเจริญ นักวิชาการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ร่วมนำเสนอ การใช้เทคโนโลยีชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อคัดกรองโรคใบด่างฯ และท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในเวลานี้ที่จะช่วยเกษตรกรลดความเสี่ยงในการนำท่อนพันธุ์ติดเชื้อโรคใบด่างมันฯ ไปเพาะปลูกต่อ
โดยจะสามารถช่วยตั้งแต่การตรวจคัดกรองโรคในกระบวนการผลิตต้นพันธุ์สะอาด การติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคหลังการเพาะปลูกเพื่อจัดการควบคุมโรคระบาดได้อย่างทันท่วงที รวมถึงการใช้ในงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคใบด่างมันสำปะหลัง ทีมวิจัย สวทช. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ให้แก่ หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน รวมถึงเกษตรกรหลายภูมิภาคของประเทศตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังเมื่อปี 2561 เป็นต้นมา
ดร.อรประไพ คชนันทน์ หัวหน้าทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชนิด Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) เป็นโรคอุบัติใหม่ที่พบการแพร่ระบาดในพื้นที่เพาะปลูกในหลายจังหวัดของประเทศไทย
โดยสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เกิดจากการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังมาปลูก ในกรณีที่ระบาดรุนแรงสร้างความเสียหายต่อผลผลิตได้ถึง 30-80เปอร์เซ็นต์
ทีมนักวิจัยฯ ได้พัฒนาชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ Strip test ซึ่งสามารถพกพาไปใช้ในภาคสนาม โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการ สามารถทราบผลได้ภายใน 15 นาที และตรวจสอบได้เองโดยไม่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการหรือเครื่องมือวัดอ่านผล ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทย
รวมถึงการตรวจหาเชื้อในขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการผลิตต้นพันธุ์มันสำปะหลังปลอดเชื้อ
“สำหรับชุดตรวจ Strip test มีความแม่นยำร้อยละ 96 ความจำเพาะเจาะจงร้อยละ 100 และความไวร้อยละ 91 ใช้งานง่ายเพียง 3 ขั้นตอน 1. นำใบพืชมาบดในบัพเฟอร์ที่เตรียมไว้ให้ 2. จุ่มตัว Strip test ลงไปในน้ำคั้นใบพืชที่บดได้ และ 3. รอ 15 นาทีแล้ว อ่านผลจากแถบสีที่เกิดขึ้น หากขึ้น 2 ขีด ณ ตำแหน่ง T และ C แสดงว่าตัวอย่างติดโรคใบด่างมันสำปะหลัง หากขึ้น 1 ขีด ณ ตำแหน่ง C แสดงว่าตัวอย่างไม่ติดโรค
ซึ่งได้ผลิตต้นแบบชุดตรวจ Strip test และนำชุดตรวจไปทดสอบการใช้งานจริงกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชน โดยได้มีการจัดฝึกอบรมเรื่อง “การตรวจวินิจฉัย เชื้อ Sri Lankan cassava mosaic virus ในตัวอย่างมันสำปะหลังด้วยชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test” และส่งมอบชุดตรวจที่พัฒนาขึ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ในการตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังแล้วหลายภูมิภาค
ดร.อรประไพ กล่าวต่อว่า สำหรับหน่วยงานภาครัฐหรือบริษัทเอกชนที่มีความต้องการตรวจสอบตัวอย่างจำนวนมาก และต้องการจัดตั้งเป็นศูนย์ตรวจคัดกรองโรคในพื้นที่ ทางทีมวิจัยฯ ยังได้พัฒนาเทคนิคการตรวจกรองไวรัสใบด่างมันสำปะหลังโดยใช้เทคนิคอิไลซ่า (ELISA) ซึ่งเป็นวิธีการที่มีความถูกต้อง ราคาไม่แพง ชุดตรวจที่พัฒนาขึ้นมีความไว (sensitivity) ในการตรวจมากกว่าชุดตรวจที่มีการขายในเชิงการค้า และมีราคาถูกกว่าที่นำเข้าจากต่างประเทศ สามารถตรวจกรองโรคใบด่างมันสำปะหลังได้ในทุกขั้นตอนของการผลิตและเพาะปลูกมันสำปะหลัง
ปัจจุบัน ได้มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการอิไลซ่าให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจจำนวน 6 แห่ง และมีแผนที่จะขยายเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ชุดตรวจที่พัฒนาขึ้นทั้ง 2 รูปแบบ ได้มีการดำเนินการเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์เรียบร้อยแล้ว
นายชวินทร์ ปลื้มเจริญ นักวิชาการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. เปิดเผยว่า ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา โรคใบด่างมันสำปะหลังได้สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมา
ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกใหญ่ที่สุดในประเทศ โรคใบด่างฯ ลุกลามและแพร่ระบาดมาถึงจังหวัดยโสธร อุบลราชธานีและอำนาจเจริญ โดยต้นตอเกิดจากเกษตรกรนำท่อนพันธุ์จากต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่และไม่ทราบว่าต้นพันธุ์ที่นำมาปลูกนั้นติดโรคใบด่าง ดังนั้นการมีองค์ความรู้และการพัฒนาชุดตรวจโรคใบด่าง ที่ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. พัฒนาขึ้นมา เพื่อนำไปให้เกษตรกรสามารถใช้ตรวจได้ด้วยตัวเกษตรกรเองและรู้ผลได้รวดเร็วภายใน 15 นาที จะช่วยช่วยลดผลกระทบจากโรคใบด่างลดลงได้
ทั้งนี้ สวทช. เห็นความสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยจัดการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานคัดเลือกเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์พื้นที่ เพื่อใช้จัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ ยกระดับรายได้ของเกษตรกร โดยมีการอบรมเกษตรกรภายใต้โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังในระบบอินทรีย์ด้วย
กลไกตลาดนำการผลิต แก่กลุ่มเกษตรกร 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ เพื่อขยายผลองค์ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับมาตรฐานสร้างเครือข่ายผู้ผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินงานโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับตัวชี้วัดในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อยกระดับมาตรฐาน เพิ่มประสิทธิภาพเกษตรปลอดภัย และเชื่อมโยงพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้
โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร ทั้งกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐท้องถิ่น โดย บริษัท อุบล ไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นพี่เลี้ยงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“โครงการนี้ สวทช. มุ่งเน้นบูรณาการชุดองค์ความรู้ต่าง ๆ เช่น พันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมกับชุดดิน การจัดการดินและปุ๋ยร่วมกับการจัดการแปลง การเก็บเกี่ยวและแปรรูป การจัดการโรคและแมลง มุ่งเน้นการตรวจติดตาม เฝ้าระวัง ใช้ชุดตรวจไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง
ซึ่งช่วงการระบาดของโรคใบด่าง ทีม สวทช. ได้นำชุดตรวจไปอบรมให้เกษตรกร เพื่อนำไปใช้คัดกรองต้นมันสำปะหลังในแปลงได้ทันที ซึ่งชุดตรวจโรคใบด่างจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกษตรกรมั่นใจว่า แปลงมันสำปะหลังของตนเองนั้นจะเป็นแปลงที่ติดโรคใบด่างหรือไม่ และหากพบว่าติดโรคใบด่างก็สามารถถอนทำลายต้นพันธุ์ทิ้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่แปลงปลูกข้างเคียงลดความเสียหายได้” นายชวินทร์ กล่าวทิ้งท้าย