https://sociallifebusiness.com/v/675 สกสว.เปิดเวทีฟังเสียงสะท้อนพื้นที่ภาคตะวันออก จี้แก้ภัยแล้ง-ความรุนแรง-เพิ่มทักษะแรงงานอีอีซี
สกสว.จับมือศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จัดเวทีคืนข้อมูลผลการศึกษาความต้องการระดับพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออก สะท้อนปัญหาใหญ่ทั้งภัยแล้ง ขาดทักษะแรงงานอีอีซี ความรุนแรงในครอบครัว และการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโดยเฉพาะมะเร็ง
โครงการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อคืนข้อมูลผลการศึกษาความต้องการระดับพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออก วันที่ 30 มกราคม 2566 ณ โรงแรมซันธารา เวลเนส รีสอร์ท จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อนำเสนอข้อมูลความต้องการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมระดับพื้นที่ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ข้อมูลดังกล่าว รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสนอแนะแนวทางการพัฒนากลไกขับเคลื่อนภูมิภาคทั่วไทย และติดตามการบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป
รศ. ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ระบุว่าเวทีครั้งนี้จะข้อมูลบางส่วนมาเป็นข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อฉายภาพปัญหา ช่องว่าง และแนวทางการพัฒนาในพื้นที่ทั้งภาพรวมและรายประเด็นที่ชัดเจน ทั้งนี้กรอบทิศทางการพัฒนาตามแผนภาคมีเป้าหมายที่มุ่งพัฒนาฐานเศรษฐกิจให้เกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ควบคู่กับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน จึงต้องปรับปรุงมาตรฐานสินค้าและบริการซึ่งจะต้องพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การค้าชายแดน และพัฒนาแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในภาวะวิกฤต
ขณะที่นางชลนภา ชื่นชมรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์แผนและงบประมาณ สกสว. กล่าวถึงแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2567-2570 ที่มุ่งพลิกโฉมประเทศไทยให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ว่าจะเน้นการมีส่วนร่วมและสานพลังกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม พัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอนาคต และพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ซึ่ง สกสว.จะนำข้อมูลในพื้นที่มาออกแบบแผน ววน. ด้านต่าง ๆ ให้ตรงเป้าหมายความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ การศึกษาความต้องการในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออก 1 ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และกลุ่มภาคตะวันออก 2 ประกอบด้วย จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว
โดยผลการศึกษาจากโครงการปีที่ 1 พบว่าปัญหาสำคัญในภาคตะวันออกคือ ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ รวมถึงขาดทักษะแรงงานที่ตรงกับความต้องการ โดยจังหวัดระยองมีอัตราการว่างงานค่อนข้างสูง แม้เศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกจะสร้างรายได้ให้กับประเทศสูงถึงร้อยละ 21.14 ของรายได้ของประเทศและมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ เนื่องจากขึ้นอยู่กับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ทว่ารายได้ของเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารรายเล็กกลับลดลง ประกอบกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีความผันผวนทั้งในประเทศและทั่วโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตผันแปรตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ภาคตะวันออกยังมีอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อไม่เรื้อรังสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคมะเร็ง
ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดของคนไทย และยังมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตร้อยละ 26 ของทั้งประเทศในปี 2562 ขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมพบว่าประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำและคุณภาพน้ำไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังประสบภัยแล้ง อุทกภัย เนื่องจากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงขยะทะเล กากของเสียอุตสาหกรรม และปัญหาป่าชายเลนที่กำลังสูญหายและถูกทำลายจากกิจกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก
ส่วนอัตราการเกิดวามรุนแรงในครอบครัว พบว่าอยู่ในระดับสูงกว่าใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของประเทศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งและความเครียดภายในครอบครัว สภาะทางการเงิน สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการก่ออาชญากรรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การดื่มสุราและเสพสิ่งเสพติด การลอกเลียนแบบจากสื่อหรือเห็นตัวอย่างความรุนแรง สภาพจิตใจและร่างกายของคนนครอบครัว การก่ออาชญากรรมและการทำร้ายร่างกายและทรัพย์สิน ความก้าวร้าวในเด็ก โดยภาคตะวันออกนับเป็นพื้นที่ที่อาชญากรรมคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากภาคใต้
ซึ่งข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหานี้คือ การยึดหลักยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึง “บวร บ้าน วัด โรงเรียน”
จากการศึกษาปัญหาและความต้องการข้างต้นนำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ประกอบด้วย 1) การส่งเสริมการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะสามารถยกระดับของสังคม 2) การส่งเสริมอุตสาหกรรมสะอาด หุ่นยนต์ 3) การส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า พลังงานชีวภาพ และนวัตกรรมพลังงานทดแทน 4) การสนับสนุนนวัตกรรมการจัดการขยะ 5) การมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการปกป้องและดูแลทรัพย์สินด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสารสนเทศ 6) การสนับสนุนด้านนวัตกรรมเครื่องจักรหุ่นยนต์ในสถานศึกษาให้มีความเข้มข้นและจริงจัง 7) การนําเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในด้านการศึกษา 8) การจัดตั้งศูนย์กลางความรู้ (knowledge broker) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางเรียนรู้แลกเปลี่ยนข้อมูล