ดึงนวัตกรไทยรางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี2566” เผยเส้นทางสู่นักวิจัยในเวทีระดับโลก พร้อมเทคนิคสร้างนวัตกรรมโดนใจ ตอบโจทย์การใช้งานจริง วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2566) ในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2566) ในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรม” Inter Invention Talk : นวัตกรรมไทยสู่เวทีระดับโลก” โดยดึง “นายยุทธนากร คณะพันธ์” นวัตกรอิสระ นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้พัฒนาผลงาน “แหล่งวัตถุดิบหมุนเวียนสำหรับการผลิตวัสดุซิลิกอนเป็นขั้วไฟฟ้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ที่สามารถอัดและคายประจุเร็ว” ที่คว้ารางวัลเหรียญทองและรางวัล Grand Prize Commercial potential award ผลงานที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมระดับนานาชาติ จากเวที 2022 Kaohsiung International Invention & Design Expo (KIDE 2022) ที่ เมืองเกาสง ประเทศไต้หวัน มาเป็นวิทยากรสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมเผยเส้นทางจากนักศึกษา ไปสู่การเป็นนักวิจัย และจะก้าวไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างไร โดยกิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษา รวมถึงอาจารย์และนักวิจัย เป็นอย่างมาก
นายยุทธนากร กล่าวว่า จากปัญหาขยะโซล่าเซลล์ที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น ปัจจุบันการจัดการปัญหาดังกล่าวเกือบ 100 % ยังใช้วิธีการฝังกลบ ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยลดปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเทคโนโลยีในการรีไซเคิลที่มีอยู่มีราคาสูง ไม่คุ้มค่ากับการรีไซเคิล ดังนั้นทีมวิจัยจึงคิดค้นเทคโนโลยีที่ใช้ในการรีไซเคิลขยะแผงโซล่าเซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน โดยนำไปสู่การผลิตเป็นซิลิกอนเพื่ออุตสาหกรรมแบตเตอรี่ขึ้น ซึ่งเป็นการทำให้เรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง นอกจากนี้ยังสามารถผลิตซิลิกอนจากแกลบข้าวได้อีกด้วย
โดยผลิตภัณฑ์ที่ทีมวิจัยผลิตขึ้น ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ RENEWSI “ มีจุดเด่นทางเทคโนโลยี คือ สามารถผลิตอนุภาคซิลิกอนได้หลากหลายขนาด นำไปประยุกต์ใช้งานได้ในหลายอุตสาหกรรม และที่สำคัญสามารถผลิตอนุภาคซิลิกอนที่มีขนาดเล็กมากในระดับนาโนเมตรได้ เป็นการเพิ่มมูลค่าจากซิลิกอนขนาดใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไปที่มีราคากิโลกรัมละ 50 บาท มาเป็นนาโนซิลิกอน ที่มีราคาเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 1000 บาท เหมาะสำหรับนำไปประยุกต์ใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ลิเธียมไออน ที่สามารถอัดและคายประจุได้อย่างรวดเร็วหรือ fast charge ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้มีทั้งไมโครซิลิกอน และนาโนซิลิกอน
“ เมื่อเราคิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาสิ่งที่จะต้องคำนึงถึง ก็คือ ตลาดในบ้านเราที่จะต้องขายผลิตภัณฑ์เหล่านั้นให้ได้ก่อน ในวันนี้เราอาจจะขายไมโครซิลิกอน กิโลกรัมละ 50 บาท เพื่อเลี้ยงตัวเองให้อยู่ได้ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องพยายามที่จะสร้างผลิตภัณฑ์รุ่นต่อไป ซึ่งรองรับตลาดแบตเตอรี่โดยเฉพาะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโต เพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศอย่างยั่งยืน”